บริจาคร่างกายและอวัยวะ เพื่ออะไร ทำไมต้องบริจาค

บริจาคร่างกาย

บริจาคร่างกาย และ บริจาคอวัยวะ ให้กับสถาบันการแพทย์ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อการศึกษาและเพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยต่างๆ ที่รอคอยการปลูกถ่ายอวัยวะต่างๆ จากผู้ให้ที่เสียชีวิตที่ได้ลงทะเบียนแจ้งความจำนงค์ไว้หรือจากผู้เสียชีวิตที่ได้รับความยินยอมจากญาติ

บริจาคร่างกาย เพื่ออะไร

การบริจาคร่างกาย คือการบริจาคร่างกายของเราหลังจากเสียชีวิต เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นของในด้านการศึกษา การวิจัย และการรักษาทางการแพทย์ อาทิ

  • เพื่อการศึกษาของนิสิตแพทย์ และแพทย์ประจำบ้าน
  • เพื่อการฝึกอบรมหัตถการต่างๆ และงานวิจัยทางการแพทย์
  • เพื่อการศึกษาของนักศึกษาด้านการแพทย์ และด้านสาธารณสุขอื่นๆ
  • เพื่อเก็บเนื้อเยื่อบางส่วนสำหรับการรักษาทางการแพทย์
  • เพื่อให้แพทย์เฉพาะทางฝึกผ่าตัด
  • เพื่อเก็บโครงกระดูกเพื่อการศึกษาตลอดไป

ขั้นตอนเมื่อเป็นอาจารย์ใหญ่

  • โดยร่างกายของผู้บริจาค จะถูกเก็บรักษาไว้ก่อน(ฉีดน้ำยาและดอง)ประมาณ 1 ปี ก่อนนำมาให้นักศึกษาเรียน
  • ทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้อาจารย์ใหญ่ ก่อนเรียน ใช้เวลาเรียนประมาณ 1-2 ปี
  • จากนั้นจะจัดพระราชทานเพลิงศพรวม
  • จะมีการแจ้ง วันเวลา สถานที่จัดงานกับญาติ ล่วงหน้า

สรุปคือ ถ้าเราบริจาคร่างกายไว้ แล้วเมื่อเราเสียชีวิตแบบธรรมชาติ(อวัยวะยังอยู่ครบ) ร่างกายของเราจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ตามที่เราประสงค์ไว้ หรือที่ทั่วไปเรียกกันว่า “ร่างอาจารย์ใหญ่” เพื่อการศึกษาของนักศึกษาด้านการแพทย์หรือสาขาวิชาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

อยากบริจาคร่างกาย ทำอย่างไร

เราควรคำนึงถึงการเดินทางของร่างที่จะไปเป็นว่าทีอาจารย์ใหญ่ของเรา ว่าอยู่ห่างจากที่อยู่อาศัยเราเพียงใด เพราะถ้าไกลมาก(ไม่เกิน 20 ชั่วโมง) ระยะเวลาเดินทางอาจทำให้ร่างเสียหายได้
ดังนั้นควรเลือกสถานที่ใกล้ที่เราอยู่อาศัย

  • เลือกสถานที่รับบริจาค อยู่ใกล้ที่ไหนทำอุทิศร่างที่นั่น ดูที่นี่ >> บริจาคร่างกายที่ไหน
  • พิจารณากฏระเบียบของแต่ละแห่ง เช่น อายุของผู้บริจาค ส่วนใหญ่ต้องมีเงื่อนไขอายุ 18 หรือ 20 ปีขึ้นไป
  • แจ้งญาติให้รับรู้ ถึงขั้นตอนต่างๆในการแจ้งให้มารับศพ(โดยเร็วที่สุด)
  • ทายาทมีสิทธิยกเลิกในการอุทิศร่างได้โดยชอบธรรม
  • เสียชีวิตแบบธรรมชาติ (ป่วยตายไม่ได้ประสบอุบัติเหตุจนร่างกายเสียหาย)
  • หากบริจาคดวงตาด้วย ต้องแจ้งศูนย์ที่รับบริจาคดวงตาไม่เกิน 6 ชั่วโมงหลังตาย
  • แจ้งตายก่อน เพื่อใช้ใบมรณะบัตรในการเคลื่อนย้ายศพ
  • ไม่ฉีดน้ำยารักษาศพ
  • วางถุงน้ำแข็งอย่างน้อย 2 ถุงบนหน้าท้องแล้วคลุมด้วยผ้าห่มก่อนส่ง
  • ดู เงื่อนไขที่ทำให้บริจาคร่างกายไม่ได้

เงื่อนไขที่ทำให้บริจาคร่างกายไม่ได้

  • ศพที่ถึงแก่กรรม เกิน 20 ชั่วโมง ยกเว้นได้เก็บไว้ในห้องเย็นของโรงพยาบาล
  • ศพที่ได้ผ่านการผ่าตัดใหญ่ ทำให้สูญเสียอวัยวะสำคัญๆต่างๆ ยกเว้นดวงตา บางแห่งอาจรับเช่น กรณีตัดเต้านมไปแล้ว
  • ศพที่ถึงแก่กรรม มีสาเหตุจาก โรคมะเร็งที่ลุกลาม บริเวณศีรษะและ สมอง ช่องอก ช่องท้อง หรือติดเชื้อโรคร้ายแรง เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์)
    ไวรัส ตับอักเสบ วัณโรค และ พิษสุนัขบ้า
  • ศพที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ มีคดี เกี่ยวข้องกับคดี หรือมีการผ่าพิสูจน์
  • ศพที่มีน้ำหนักมากเกินกว่า 80 กิโลกรัม หรือ ผอมมากลักษณะไม่มีกล้ามเนื้อ
  • ศพที่ไม่เหมาะจะใช้ศึกษาได้ เช่น แขน ขา คด งอ จนเสียรูปร่าง

บริจาคร่างกายที่ไหน

สถานที่ ที่รับบริจาคร่างกายก็คือมหาวิทยาลัยต่างๆที่มีคณะแพทย์ศาสตร์ ที่มีทั่วประเทศ มีเงื่อนไขการรับบริจาคแตกต่างกันบ้างในแต่ละที่ โดยสามารถไปบริจาคด้วยตนเอง ทางออนไลน์หรือทางไปรษณีย์ได้

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

  1. บริจาคร่างกายแบบออนไลน์
  2. คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  4. คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
  6. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  7. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  8. คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
  9. คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  10. วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ภาคตะวันออก

  1. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ภาคเหนือ

  1. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  2. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  3. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
  4. สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  1. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  3. สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  4. วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ภาคใต้

  1. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  2. สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  3. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

สรุปคือ ถ้าต้องการบริจาคร่างกายต้องอายุอย่างน้อย 18 -20 ปีขึ้นไป เสียชีวิตแบบธรรมชาติไม่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ไม่มีคดีความ และไม่ได้ติดเชื้อโรคติดต่อ อวัยวะสำคัญๆยังอยู่ และต้องแจ้งญาติเอาไว้ด้วยว่าทำเรื่องบริจาคไว้ โดยรีบทำใบมรณะบัตรและให้ติดต่อเจ้าหน้าที่มารับร่าง ภายใน 20 ชั่วโมง สามารถทำเรื่องบริจาคได้ที่สถาบันการแพทย์ต่างๆทั่วประเทศ


ทำไมต้องบริจาคอวัยวะ

ทำไมเราต้องควรบริจาคอวัยวะ ? เพราะในปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะอยู่เป็นจำนวนมาก โดยถ้าหากเราคือผู้บริจาค และอาจประสบอุบัติเหตุหรือป่วยแล้วมีภาวะสมองตาย (ทางการแพทย์จะวินิจฉัยว่าเสียชีวิตลงแล้ว) แล้วมีความประสงค์ที่จะบริจาคอวัยวะไว้ก่อน หรือลงทะเบียนไว้ที่ใดที่หนึ่ง หรือทางญาติมีความประสงค์ที่บริจาค เราสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้มากสุดถึง 8 คน ในกรณีที่อวัยวะภายในยังสามารถใช้งานได้คือ

  1. ไตข้างซ้าย
  2. ไตข้างขวา
  3. หัวใจ
  4. ปอดข้างซ้าย
  5. ปอดข้างขวา
  6. ตับ
  7. ตับอ่อน
  8. ลำไส้เล็ก

นอกจากอวัยวะแล้วยังมี เนื้อเยื่อที่สามารถปลูกถ่ายได้คือ ลิ้นหัวใจ, หลอดเลือด, ผิวหนัง, กระดูก, เส้นเอ็น, กระจกตา

สรุปการบริจาคอวัยวะนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้บริจาคมีภาวะสมองตาย แล้วอวัยวะของร่างกายยังอยู่ในสภาพดี อวัยวะที่ใช้ปลูกถ่ายได้คือ ไตสองข้าง, ปอดสองข้าง, หัวใจ, ตับ, ตับอ่อน, ลำไส้เล็ก ซึ่งสามารถช่วยผู้รอรับบริจาคได้ 8 คน
สามารถทำเรื่องบริจาคได้ตั้งแต่ตอนมีชีวิตอยู่ และต้องแจ้งญาติไว้ด้วย

การบริจาคอวัยวะ ถือเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นในตอนที่เราจากไปแล้ว โดยผู้ที่ได้รับอวัยวะจากเรา จะเลือกจากผู้ที่ความจำเป็นก่อนและมีเนื้อเยื่อตรงกันกับเรา เช่นอาการหนักมาก และอาจต้องเสียชีวิตหากไม่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะโดยเร็วที่สุด หรือถ้าเราเสียชีวิตในชุมชนใด แล้วมีมีผู้รอรับบริจาคและมีการลงทะเบียนไว้ คนในชุมชนนั้นจะได้รับการคัดเลือกปลูกถ่ายอวัยวะจากของเราเป็นอันดับต้นๆ ง่ายๆคือได้อวัยวะจากที่ไหน ที่นั่นควรได้รับการพิจารณาการปลูกถ่ายก่อน เพราะการปลูกถ่ายอวัยวะหากล่าช้า(การเดินทาง) อาจทำให้อวัยวะนั้นเสียหายได้


คุณสมบัติของผู้บริจาคอวัยวะ

  • ผู้บริจาคอวัยวะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี
  • เสียชีวิตจากสภาวะสมองตายด้วยสาเหตุต่างๆ
  • ปราศจากโรคติดเชื้อและโรคมะเร็ง
  • ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน, หัวใจ, โรคไต, ความดันโลหิตสูง, โรคตับ และไม่ติดสุรา
  • อวัยวะที่จะนำไปปลูกถ่ายต้องทำงานได้ดี
  • ปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี, ไวรัสเอดส์ ฯลฯ
  • ต้องแจ้งเรื่องการบริจาคอวัยวะของเรา กับบุคคลอื่นๆในครอบครัวหรือญาติให้รับทราบด้วย

บริจาคอวัยวะที่ไหน

  • บริจาคด้วยตนเอง ศูนย์การรับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ปทุมวัน กรุงเทพฯ เวลา 08.30-16.30 น. เว้นวันหยุดราชการ
  • บริจาคด้วยตนเอง ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย อาคารเฉลิมพระเกียรติบรมราชินีนาถ ชั้นล่าง ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ เวลา 08.30-16.30 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ
  • บริจาคแบบออนไลน์ https://www.organdonate.in.th/
  • บริจาคแบบออนไลน์ผ่านแอพ ค้นหาคำว่า “บริจาคอวัยวะ” ในแอพสโตร์หรือเพลย์สโตร์
  • บริจาคทางไปรษณีย์ https://www.organdonate.in.th/assets/files/organ_donation_form.pdf
  • หน่วยบริการเคลื่อนที่ของสภากาชาดไทย
  • เหล่ากาชาดจังหวัด หรือกิ่งกาชาดทุกจังหวัด
  • โรงพยาบาลเครือข่าย เช่นโรงพยาบาลประจำจังหวัดต่างๆ
  • ที่ว่าการอำเภอ แจ้งตอนทำบัตรประชาชน เพื่อบรรจุข้อมูลแจ้งความประสงค์ลงในบัตร

ถ้าเรามีภาวะสมองตายอยู่ในโรงพยาบาลพื้นที่ จังหวัด ก. ผู้รับอวัยวะจากเราที่ลงทะเบียนไว้และอยู่ที่ จังหวัด ก. และหากแพทย์พิจารณาว่าปลูกถ่ายอวัยวะจากเราได้ เขาก็จะมีสิทธิได้รับอวัยวะจากเราไปเป็นอันดับต้นๆ สามารถทำเรื่องบริจาคอวัยวะได้ที่ศูนย์กาชาดทุกจังหวัด หรือทำแบบออนไลน์ได้


การบริจาคดวงตา

การบริจาคดวงตา ก็คือการบริจาคกระจกตา (Cornea) เนื้อเยื่อส่วนด้านหน้าสุดของตา ไม่ได้ใช้ดวงตาทั้งดวง เป็นการบริจาคที่เราสามารถแจ้งความประสงค์ได้ในขณะเรามีชีวิต โดยทำเรื่องบริจาคแยกกันกับอวัยวะ เพราะกระจกตาอาจไม่ต้องใช้ปัจจัยเรื่องการเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อไม่เหมือนอวัยวะอื่นๆ ผู้บริจาคไม่จำเป็นต้องมีภาวะสมองตาย และการบริจาคดวงตานั้น ถ้าผู้บริจาคเสียชีวิตลง ญาติต้องแจ้งศูนย์รับบริจาคทันที เพราะดวงตาต้องถูกจัดเก็บถึงศูนย์ดวงตาภายใน 6-8 ชั่วโมงหลังเสียชีวิตถึงจะสามารถใช้งานได้

ผู้ที่สามารถบริจาคดวงตาได้

  • ทุกเพศ ทุกวัย
  • อายุ 2 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีสายตาสั้น ยาว เอียง ต้อหิน ต้อกระจก ต้อเนื้อ ต้อลม สามารถบริจาคได้หมด

ผู้ที่ไม่สามารถบริจาคดวงตาได้

  • เคยผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตามาแล้ว
  • เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ เพราะอาจติดเชื้อบางอย่างได้
  • เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด
  • ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
  • ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)

บริจาคดวงตาที่ไหน

  • ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย
    สถานที่ติดต่อ: 1871 อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฒโน) ชั้น 7 ถนนอังรีดูนังต์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
    เบอร์โทรศัพท์ : 0-2256-4039-40
    เบอร์โทรสาร : 0-2252-4902
    เว็บไซต์ : http://eyebankthai.redcross.or.th
  • แจ้งบริจาคดวงตาแบบออนไลน์
  • หน่วยบริการเคลื่อนที่ของสภากาชาดไทย
  • เหล่ากาชาดจังหวัด หรือกิ่งกาชาดทุกจังหวัด
  • โรงพยาบาลเครือข่าย เช่นโรงพยาบาลประจำจังหวัดต่างๆ
  • ที่ว่าการอำเภอ แจ้งตอนทำบัตรประชาชน เพื่อบรรจุข้อมูลแจ้งความประสงค์ลงในบัตร

การบริจาคดวงตาต้องทำเรื่องแยกกับร่างกายและอวัยวะ เพราะทำได้หลังเสียชีวิตแต่ไม่เกิน 6-8 ชั่วโมง สิ่งที่เอาไปใช้คือ กระจกตา ซึ่งอยู่ด้านหน้าของตา ดังนั้นไม่ว่าจะ สายตาสั้น ยาว เอียง เป็นต้อ สามารถบริจาคได้ ทำเรื่องบริจาคได้ที่ ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย และศูนย์กาชาดทุกจังหวัด หรือแบบออนไลน์ได้ บริจาคได้ทุกเพศ ทุกวัย อายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *