บริจาคร่างกาย และ บริจาคอวัยวะ ให้กับสถาบันการแพทย์ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อการศึกษาและเพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยต่างๆ ที่รอคอยการปลูกถ่ายอวัยวะต่างๆ จากผู้ให้ที่เสียชีวิตที่ได้ลงทะเบียนแจ้งความจำนงค์ไว้หรือจากผู้เสียชีวิตที่ได้รับความยินยอมจากญาติ
บริจาคร่างกาย เพื่ออะไร
การบริจาคร่างกาย คือการบริจาคร่างกายของเราหลังจากเสียชีวิต เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นของในด้านการศึกษา การวิจัย และการรักษาทางการแพทย์ อาทิ
- เพื่อการศึกษาของนิสิตแพทย์ และแพทย์ประจำบ้าน
- เพื่อการฝึกอบรมหัตถการต่างๆ และงานวิจัยทางการแพทย์
- เพื่อการศึกษาของนักศึกษาด้านการแพทย์ และด้านสาธารณสุขอื่นๆ
- เพื่อเก็บเนื้อเยื่อบางส่วนสำหรับการรักษาทางการแพทย์
- เพื่อให้แพทย์เฉพาะทางฝึกผ่าตัด
- เพื่อเก็บโครงกระดูกเพื่อการศึกษาตลอดไป
ขั้นตอนเมื่อเป็นอาจารย์ใหญ่
- โดยร่างกายของผู้บริจาค จะถูกเก็บรักษาไว้ก่อน(ฉีดน้ำยาและดอง)ประมาณ 1 ปี ก่อนนำมาให้นักศึกษาเรียน
- ทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้อาจารย์ใหญ่ ก่อนเรียน ใช้เวลาเรียนประมาณ 1-2 ปี
- จากนั้นจะจัดพระราชทานเพลิงศพรวม
- จะมีการแจ้ง วันเวลา สถานที่จัดงานกับญาติ ล่วงหน้า
สรุปคือ ถ้าเราบริจาคร่างกายไว้ แล้วเมื่อเราเสียชีวิตแบบธรรมชาติ(อวัยวะยังอยู่ครบ) ร่างกายของเราจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ตามที่เราประสงค์ไว้ หรือที่ทั่วไปเรียกกันว่า “ร่างอาจารย์ใหญ่” เพื่อการศึกษาของนักศึกษาด้านการแพทย์หรือสาขาวิชาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
อยากบริจาคร่างกาย ทำอย่างไร
เราควรคำนึงถึงการเดินทางของร่างที่จะไปเป็นว่าทีอาจารย์ใหญ่ของเรา ว่าอยู่ห่างจากที่อยู่อาศัยเราเพียงใด เพราะถ้าไกลมาก(ไม่เกิน 20 ชั่วโมง) ระยะเวลาเดินทางอาจทำให้ร่างเสียหายได้
ดังนั้นควรเลือกสถานที่ใกล้ที่เราอยู่อาศัย
- เลือกสถานที่รับบริจาค อยู่ใกล้ที่ไหนทำอุทิศร่างที่นั่น ดูที่นี่ >> บริจาคร่างกายที่ไหน
- พิจารณากฏระเบียบของแต่ละแห่ง เช่น อายุของผู้บริจาค ส่วนใหญ่ต้องมีเงื่อนไขอายุ 18 หรือ 20 ปีขึ้นไป
- แจ้งญาติให้รับรู้ ถึงขั้นตอนต่างๆในการแจ้งให้มารับศพ(โดยเร็วที่สุด)
- ทายาทมีสิทธิยกเลิกในการอุทิศร่างได้โดยชอบธรรม
- เสียชีวิตแบบธรรมชาติ (ป่วยตายไม่ได้ประสบอุบัติเหตุจนร่างกายเสียหาย)
- หากบริจาคดวงตาด้วย ต้องแจ้งศูนย์ที่รับบริจาคดวงตาไม่เกิน 6 ชั่วโมงหลังตาย
- แจ้งตายก่อน เพื่อใช้ใบมรณะบัตรในการเคลื่อนย้ายศพ
- ไม่ฉีดน้ำยารักษาศพ
- วางถุงน้ำแข็งอย่างน้อย 2 ถุงบนหน้าท้องแล้วคลุมด้วยผ้าห่มก่อนส่ง
- ดู เงื่อนไขที่ทำให้บริจาคร่างกายไม่ได้
เงื่อนไขที่ทำให้บริจาคร่างกายไม่ได้
- ศพที่ถึงแก่กรรม เกิน 20 ชั่วโมง ยกเว้นได้เก็บไว้ในห้องเย็นของโรงพยาบาล
- ศพที่ได้ผ่านการผ่าตัดใหญ่ ทำให้สูญเสียอวัยวะสำคัญๆต่างๆ ยกเว้นดวงตา บางแห่งอาจรับเช่น กรณีตัดเต้านมไปแล้ว
- ศพที่ถึงแก่กรรม มีสาเหตุจาก โรคมะเร็งที่ลุกลาม บริเวณศีรษะและ สมอง ช่องอก ช่องท้อง หรือติดเชื้อโรคร้ายแรง เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์)
ไวรัส ตับอักเสบ วัณโรค และ พิษสุนัขบ้า - ศพที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ มีคดี เกี่ยวข้องกับคดี หรือมีการผ่าพิสูจน์
- ศพที่มีน้ำหนักมากเกินกว่า 80 กิโลกรัม หรือ ผอมมากลักษณะไม่มีกล้ามเนื้อ
- ศพที่ไม่เหมาะจะใช้ศึกษาได้ เช่น แขน ขา คด งอ จนเสียรูปร่าง
บริจาคร่างกายที่ไหน
สถานที่ ที่รับบริจาคร่างกายก็คือมหาวิทยาลัยต่างๆที่มีคณะแพทย์ศาสตร์ ที่มีทั่วประเทศ มีเงื่อนไขการรับบริจาคแตกต่างกันบ้างในแต่ละที่ โดยสามารถไปบริจาคด้วยตนเอง ทางออนไลน์หรือทางไปรษณีย์ได้
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- บริจาคร่างกายแบบออนไลน์
- คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
- คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ภาคตะวันออก
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
ภาคเหนือ
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
- สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ภาคใต้
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
สรุปคือ ถ้าต้องการบริจาคร่างกายต้องอายุอย่างน้อย 18 -20 ปีขึ้นไป เสียชีวิตแบบธรรมชาติไม่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ไม่มีคดีความ และไม่ได้ติดเชื้อโรคติดต่อ อวัยวะสำคัญๆยังอยู่ และต้องแจ้งญาติเอาไว้ด้วยว่าทำเรื่องบริจาคไว้ โดยรีบทำใบมรณะบัตรและให้ติดต่อเจ้าหน้าที่มารับร่าง ภายใน 20 ชั่วโมง สามารถทำเรื่องบริจาคได้ที่สถาบันการแพทย์ต่างๆทั่วประเทศ
ทำไมต้องบริจาคอวัยวะ
ทำไมเราต้องควรบริจาคอวัยวะ ? เพราะในปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะอยู่เป็นจำนวนมาก โดยถ้าหากเราคือผู้บริจาค และอาจประสบอุบัติเหตุหรือป่วยแล้วมีภาวะสมองตาย (ทางการแพทย์จะวินิจฉัยว่าเสียชีวิตลงแล้ว) แล้วมีความประสงค์ที่จะบริจาคอวัยวะไว้ก่อน หรือลงทะเบียนไว้ที่ใดที่หนึ่ง หรือทางญาติมีความประสงค์ที่บริจาค เราสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้มากสุดถึง 8 คน ในกรณีที่อวัยวะภายในยังสามารถใช้งานได้คือ
- ไตข้างซ้าย
- ไตข้างขวา
- หัวใจ
- ปอดข้างซ้าย
- ปอดข้างขวา
- ตับ
- ตับอ่อน
- ลำไส้เล็ก
นอกจากอวัยวะแล้วยังมี เนื้อเยื่อที่สามารถปลูกถ่ายได้คือ ลิ้นหัวใจ, หลอดเลือด, ผิวหนัง, กระดูก, เส้นเอ็น, กระจกตา
สรุปการบริจาคอวัยวะนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้บริจาคมีภาวะสมองตาย แล้วอวัยวะของร่างกายยังอยู่ในสภาพดี อวัยวะที่ใช้ปลูกถ่ายได้คือ ไตสองข้าง, ปอดสองข้าง, หัวใจ, ตับ, ตับอ่อน, ลำไส้เล็ก ซึ่งสามารถช่วยผู้รอรับบริจาคได้ 8 คน
สามารถทำเรื่องบริจาคได้ตั้งแต่ตอนมีชีวิตอยู่ และต้องแจ้งญาติไว้ด้วย
การบริจาคอวัยวะ ถือเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นในตอนที่เราจากไปแล้ว โดยผู้ที่ได้รับอวัยวะจากเรา จะเลือกจากผู้ที่ความจำเป็นก่อนและมีเนื้อเยื่อตรงกันกับเรา เช่นอาการหนักมาก และอาจต้องเสียชีวิตหากไม่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะโดยเร็วที่สุด หรือถ้าเราเสียชีวิตในชุมชนใด แล้วมีมีผู้รอรับบริจาคและมีการลงทะเบียนไว้ คนในชุมชนนั้นจะได้รับการคัดเลือกปลูกถ่ายอวัยวะจากของเราเป็นอันดับต้นๆ ง่ายๆคือได้อวัยวะจากที่ไหน ที่นั่นควรได้รับการพิจารณาการปลูกถ่ายก่อน เพราะการปลูกถ่ายอวัยวะหากล่าช้า(การเดินทาง) อาจทำให้อวัยวะนั้นเสียหายได้
คุณสมบัติของผู้บริจาคอวัยวะ
- ผู้บริจาคอวัยวะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี
- เสียชีวิตจากสภาวะสมองตายด้วยสาเหตุต่างๆ
- ปราศจากโรคติดเชื้อและโรคมะเร็ง
- ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน, หัวใจ, โรคไต, ความดันโลหิตสูง, โรคตับ และไม่ติดสุรา
- อวัยวะที่จะนำไปปลูกถ่ายต้องทำงานได้ดี
- ปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี, ไวรัสเอดส์ ฯลฯ
- ต้องแจ้งเรื่องการบริจาคอวัยวะของเรา กับบุคคลอื่นๆในครอบครัวหรือญาติให้รับทราบด้วย
บริจาคอวัยวะที่ไหน
- บริจาคด้วยตนเอง ศูนย์การรับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ปทุมวัน กรุงเทพฯ เวลา 08.30-16.30 น. เว้นวันหยุดราชการ
- บริจาคด้วยตนเอง ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย อาคารเฉลิมพระเกียรติบรมราชินีนาถ ชั้นล่าง ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ เวลา 08.30-16.30 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ
- บริจาคแบบออนไลน์ https://www.organdonate.in.th/
- บริจาคแบบออนไลน์ผ่านแอพ ค้นหาคำว่า “บริจาคอวัยวะ” ในแอพสโตร์หรือเพลย์สโตร์
- บริจาคทางไปรษณีย์ https://www.organdonate.in.th/assets/files/organ_donation_form.pdf
- หน่วยบริการเคลื่อนที่ของสภากาชาดไทย
- เหล่ากาชาดจังหวัด หรือกิ่งกาชาดทุกจังหวัด
- โรงพยาบาลเครือข่าย เช่นโรงพยาบาลประจำจังหวัดต่างๆ
- ที่ว่าการอำเภอ แจ้งตอนทำบัตรประชาชน เพื่อบรรจุข้อมูลแจ้งความประสงค์ลงในบัตร
ถ้าเรามีภาวะสมองตายอยู่ในโรงพยาบาลพื้นที่ จังหวัด ก. ผู้รับอวัยวะจากเราที่ลงทะเบียนไว้และอยู่ที่ จังหวัด ก. และหากแพทย์พิจารณาว่าปลูกถ่ายอวัยวะจากเราได้ เขาก็จะมีสิทธิได้รับอวัยวะจากเราไปเป็นอันดับต้นๆ สามารถทำเรื่องบริจาคอวัยวะได้ที่ศูนย์กาชาดทุกจังหวัด หรือทำแบบออนไลน์ได้
การบริจาคดวงตา
การบริจาคดวงตา ก็คือการบริจาคกระจกตา (Cornea) เนื้อเยื่อส่วนด้านหน้าสุดของตา ไม่ได้ใช้ดวงตาทั้งดวง เป็นการบริจาคที่เราสามารถแจ้งความประสงค์ได้ในขณะเรามีชีวิต โดยทำเรื่องบริจาคแยกกันกับอวัยวะ เพราะกระจกตาอาจไม่ต้องใช้ปัจจัยเรื่องการเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อไม่เหมือนอวัยวะอื่นๆ ผู้บริจาคไม่จำเป็นต้องมีภาวะสมองตาย และการบริจาคดวงตานั้น ถ้าผู้บริจาคเสียชีวิตลง ญาติต้องแจ้งศูนย์รับบริจาคทันที เพราะดวงตาต้องถูกจัดเก็บถึงศูนย์ดวงตาภายใน 6-8 ชั่วโมงหลังเสียชีวิตถึงจะสามารถใช้งานได้
ผู้ที่สามารถบริจาคดวงตาได้
- ทุกเพศ ทุกวัย
- อายุ 2 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีสายตาสั้น ยาว เอียง ต้อหิน ต้อกระจก ต้อเนื้อ ต้อลม สามารถบริจาคได้หมด
ผู้ที่ไม่สามารถบริจาคดวงตาได้
- เคยผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตามาแล้ว
- เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ เพราะอาจติดเชื้อบางอย่างได้
- เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด
- ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
- ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)
บริจาคดวงตาที่ไหน
- ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย
สถานที่ติดต่อ: 1871 อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฒโน) ชั้น 7 ถนนอังรีดูนังต์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
เบอร์โทรศัพท์ : 0-2256-4039-40
เบอร์โทรสาร : 0-2252-4902
เว็บไซต์ : http://eyebankthai.redcross.or.th - แจ้งบริจาคดวงตาแบบออนไลน์
- หน่วยบริการเคลื่อนที่ของสภากาชาดไทย
- เหล่ากาชาดจังหวัด หรือกิ่งกาชาดทุกจังหวัด
- โรงพยาบาลเครือข่าย เช่นโรงพยาบาลประจำจังหวัดต่างๆ
- ที่ว่าการอำเภอ แจ้งตอนทำบัตรประชาชน เพื่อบรรจุข้อมูลแจ้งความประสงค์ลงในบัตร
การบริจาคดวงตาต้องทำเรื่องแยกกับร่างกายและอวัยวะ เพราะทำได้หลังเสียชีวิตแต่ไม่เกิน 6-8 ชั่วโมง สิ่งที่เอาไปใช้คือ กระจกตา ซึ่งอยู่ด้านหน้าของตา ดังนั้นไม่ว่าจะ สายตาสั้น ยาว เอียง เป็นต้อ สามารถบริจาคได้ ทำเรื่องบริจาคได้ที่ ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย และศูนย์กาชาดทุกจังหวัด หรือแบบออนไลน์ได้ บริจาคได้ทุกเพศ ทุกวัย อายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป